Compilation Theme

 

โลโก้ไฟนอลแฟนตาซีแต่ละภาคจะมีชื่อภาคและภาพประกอบด้านหลังที่บอกเล่าเรื่องราวส่วนสำคัญของภาคนั้นๆ เช่นเดียวกัน ใน FFVII รวมทั้งภาคเสริมหลักๆ ก็มีโลโก้ที่บอกเล่าเรื่องราวแตกต่างกันไป 


Final Fantasy VII

 

โลโก้ภาคนี้เป็นรูปเมเทโอ มหาเวทดำที่เซฟิรอธเรียกลงมาทำลายดวงดาว ซึ่งเนื้อเรื่องครึ่งหลังของเกมส่วนใหญ่ก็อยู่ที่การหาวิธีหยุดยั้งเมเทโอนี่แหละ สำหรับธีมของภาคนี้คือ “ชีวิต” การต่อสู้ระหว่างมนุษยชาติและเซฟิรอธกับเจโนวาในภาคนี้ถูกเรียกว่า “สงครามเจโนวา”


Advent Children

ถึงจะดูคล้ายเมเทโอ แต่โลโก้ภาคนี้เป็นภาพเมืองมิดการ์และเอดจ์ มิดการ์คือวงกลมใหญ่ เส้นมุมบนขวาคือถนนที่ตัดออกจากมิดการ์มาทางตะวันออกพาดผ่านเมืองเอดจ์ และเอดจ์คือบ้านหลังเล็กหลังน้อยจำนวนมากที่สร้างขึ้นจากเศษซากของมิดการ์นั่นเอง ก่อน Advent Children ออกสู่สายตามวลชนนั้น ทีมสัมภาษณ์ของ GameSpot ได้สอบถามคุณโนมุระว่าเรื่องราวของภาคนี้จะเกิดขึ้นที่ไหน ซึ่งคุณโนมุระก็ตอบสั้นๆว่า “มันซ่อนอยู่ในโลโก้นั่นแหละ” และธีมของภาคนี้จะเกี่ยวข้องกับการเอาชีวิตรอดมากกว่าธีมอ่อนโยนอย่างการเยียวยา 

ความหมายของชื่อ Advent Children ต้องแบ่งเป็นสองส่วน เพราะชื่อภาคไม่ได้พูดถึง “เด็กที่กำลังมา” แต่บอกถึงเรื่องราวของ Advent ซึ่งก็คือการกำเนิดใหม่ของเซฟิรอธ และ Children ที่หมายถึงพวกเด็กๆอย่างมาร์ลีน คุณโนจิม่าต้องการให้ใส่คำว่า Children ในชื่อภาค และคำเปรยในหนังตัวอย่าง “คลาวด์กลับมาต่อสู้อีกครั้งเพื่ออะไร? เพื่อเด็กๆ? เพื่อความทรงจำ? หรือเพื่อตัวเขาเอง ก็เป็นประเด็นที่ทีมงานต้องการให้ผู้ชมติดตาม ทีแรกทีมงานจะใช้ชื่อภาค Reunion แต่มันก็ไม่ได้แปลว่าการกลับมา สุดท้ายคำว่า Advent Children นี้ก็แสดงให้รู้สึกถึงการกลับมาของทั้งเซฟิรอธและ FFVII ได้อย่างลงตัว


Before Crisis

สำหรับภาคนี้โลโก้จะจับเอาเติร์กที่เราสามารถเลือกใช้เป็นตัวเอกได้มายืนหลังชนกันแล้วโพสต์ท่า จะมีความพิเศษตรงที่ภาคนี้มีโลโก้สามแบบตามระบบมือถือที่ใช้เล่น

ภาพแรกสำหรับมือถือ NTT DoCoMo FOMA 900i Series ประกอบด้วยกระบอง (ชาย) และปืนสั้น (หญิง)

ภาพที่สองสำหรับมือถือ Softbank Yahoo! Mobile phones ประกอบด้วยกระบองสองท่อน (ชาย) และชูริเคน (หญิง)

ภาพสุดท้ายสำหรับมือถือ AU EZweb phones ประกอบด้วยมีดขว้าง (หญิง) และคาตานะ (ชาย)

 

ชื่อภาค Before Crisis นั้นถูกตั้งโดยตั้งใจให้มีตัวย่อเป็นลำดับต่อจาก Advent Children (AC) คือ BC


Crisis Core

นอกจากเลิฟเลสแล้ว Crisis Core ยังมีการใช้สัญลักษณ์เด่นอีกอย่างคือ ท้องฟ้า ขนนกสีขาว และผืนน้ำที่เป็นโลโก้ของภาคนี้ รวมทั้งเป็นจินตภาพที่แซ็คเห็นก่อนหนีออกจากห้องทดลองด้วย ทีมงานอธิบายใน Crisis Core Complete Guide ของ Dengeki PS ว่า:

  • ท้องฟ้านั้นหมายถึงแซ็ค ซึ่งในภาวะที่สมบูรณ์ที่สุดนั้นเขาจะเป็นโซลเยอร์ 1st class ในอุดมคติ ตัวแทนของอุดมคติ เป้าหมาย และความฝัน

  • ขนนกสีขาวหมายถึงปีกที่บินผ่านท้องฟ้าสีคราม ซึ่งก็คือแองจีล เป็นสัญลักษณ์ที่บอกเป็นนัยว่าการจะไปยังความฝันที่อยู่สูงสุดเอื้อมนั้นจำต้องฝ่าฟันความยากลำบากมากมาย

  • และผืนน้ำที่สะท้อนและโอบล้อมท้องฟ้าไว้นั้นหมายถึงแอริธที่เคยส่งจิตผ่านสายน้ำเหมือนไลฟ์สตรีมที่นำคำบอกเล่าของดวงดาวมา หรืออาจหมายถึงตัวไลฟ์สตรีมที่เป็นเจตจำนงของดวงดาวเอง

ภาคนี้เป็นภาคสุดท้ายที่วางแผนพัฒนาขึ้นมาหลังจาก Advent Children, Before Crisis และ Dirge of Cerberus ตามลำดับ สำหรับชื่อภาคในตอนแรกนั้นตั้งใจให้ชื่อ Before Crisis Core แต่ตัดออกเหลือเพียง Crisis Core ซึ่งตัวย่อ CC ก็ต่อกับภาคอื่นๆเรียงกันได้อย่างสวยงามโดยไม่ได้ตั้งใจ


Dirge of Cerberus

โลโก้ของ Dirge of Cerberus เป็นรูปเซอเบรัสสุนัขเฝ้านรกสามหัวดังชื่อปืนของวินเซนต์ คุณโนมุระเล่าในบทสัมภาษณ์ลง DC Complete Guide ว่าวินเซนต์เคยเป็นเติร์ก สุนัขรับใช้ของชินระ แม้ปัจจุบันเขาจะไม่ได้ทำงานให้ชินระแล้วแต่เขาก็ยังถูกอดีตเหนี่ยวรั้งไว้ เขามีภาพลักษณ์ราวกับถูกพันธนาการด้วยบางสิ่งอยู่ ทำให้อิมเมจของสุนัขเฝ้านรกเข้ากับตัววินเซนต์แบบสุดๆ

คุณคิตาเสะได้มีไอเดียที่จะทำไฟนอลแฟนตาซีภาคที่เป็นเกมแนวเดินยิง ซึ่งในทีแรกทีมงานก็มองตัวละครที่สามารถใช้เป็นตัวเอกได้หลายตัว ทั้งวินเซนต์และแบเร็ตจาก FFVII, เออร์วินจาก FFVIII และยูน่าจาก FFX-2 ก่อนทีมงานจะตัดสินใจทำเป็นภาคหนึ่งใน compilation ของ FFVII และเลือกวินเซนต์เป็นตัวเอกเพราะเนื้อเรื่องของวินเซนต์นั้นเกี่ยวข้องกับชินระ โฮโจ และเซฟิรอธเป็นอย่างมากสามารถสาวความยืดให้มันดราม่าได้

 

 

<กลับไปหน้าหลัก>

 


Web Content by Shiryu
This site is best viewed in Firefox with a resolution of 1024x786